ความดันภัยเงียบ


คุณทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ตรวจหาการอุดตันของหลอดเลือดแดง ได้อย่างไร?
        หลากหลายคำถาม เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ABI & การอุดตันของหลอดเลือดแดง……

   เราควรจะตรวจหาการอุดตันของหลอดเลือดแดงกับใครบ้าง?
เราควรจะตรวจในรายที่มีอาการและอาการแสดงของการอุดตันของหลอดเลือดแดง เช่น มีอาการปวดบริเวณขาโดยเฉพาะบริเวณน่อง ลักษณะเหมือนตะคริว เป็นมากขึ้นเวลาเดิน ดีขึ้นถ้านั่งพัก หรือตรวจในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน ได้แก่ คนสูงอายุ, สูบบุหรี่, คนที่เป็นเบาหวาน,คนที่เคยตรวจพบว่าเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดแดง เช่นที่เส้นเลือดหัวใจ, เส้นเลือดแดงที่คอ, เส้นเลือดแดงที่ไต

  ทำไมต้องตรวจหาการอุดตันของหลอดเลือดในคนที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน
จากการศึกษา ในคน 6417 รายที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน ได้แก่ อายุมากกว่า 70 ปี, คนเป็นเบาหวานที่อายุ 50-60 ปี, คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 10 ซองต่อปี ตรวจพบการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย(โดยใช้ค่า ankle brachial index 0.9 หรือน้อยกว่า) ทั้งสิ้น 1865 ราย(คิดเป็น 29%) แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 11% เท่านั้นที่มีอาการชัดเจนของหลอดเลือดอุดตัน นั่นก็หมายความว่า มีจำนวนถึง 89% ของกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคนี้แต่ไม่มีอาการ

 ABI คืออะไร มีวิธีตรวจอย่างไร?
          ABI ย่อมาจากคำว่า ankle-brachial index คือการหาอัตราส่วน ระหว่าง ความดันโลหิตช่วง systolic ของข้อเท้า หารด้วย ความดันโลหิตช่วง systolic ของแขน โดยใช้การวัดจาก Doppler ultrasonography
                   ค่าปกติของค่า ABI มีค่าเท่ากับ 0.91-1.3
ถ้าค่า ABI เท่ากับ 0.9 หรือน้อยกว่า แสดงว่ามีการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
ถ้าค่า ABI เท่ากับ 0.4 พบในรายที่มีการขาดเลือดไปเลี้ยงรุนแรง จากการอุดตันของหลอดเลือดแดง
          วิธีตรวจหาค่า ABI เราจะทำการวัดความดันโลหิตช่วง systolic โดยใช้คลื่นเสียงที่เรียกว่า Doppler ultrasonography โดยวัดความดันโลหิตที่แขนทั้ง 2 ข้าง(เลือกเอาค่าที่สูงกว่ามาเป็นค่าความดันโลหิตที่แขน) และวัดความดันโลหิตที่ข้อเท้าทั้ง 2 ข้างบริเวณเส้นเลือดแดง anterior tibial และ posterior tibial (วัดความดันโลหิตทั้ง 2 เส้นและเลือกเอาค่าที่สูงกว่ามาใช้คำนวณค่า ABI แต่ละข้าง)
                  ABI ข้างขวา = ความดันโลหิตช่วงsystolic ของข้อเท้าขวา / ความดันโลหิตช่วงsystolicของแขน
                  ABI ข้างซ้าย = ความดันโลหิตช่วงsystolic ของข้อเท้าซ้าย / ความดันโลหิตช่วงsystolicของแขน
การตรวจหาค่า ABI มีความไวและความจำเพาะในการตรวจมากน้อยแค่ไหน?
          ถ้าเราใช้ค่า ABI เท่ากับ 0.9 หรือน้อยกว่า บอกว่ามีการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย จะมี
               ความไวของการตรวจ(sensitivity) เท่ากับ 95%
               ความจำเพาะของการตรวจ(specificity) เท่ากับ 100%
เมื่อเทียบกับการตรวจโดยวิธีการฉีดสี(angiogram)

  ค่า ABI มีโอกาสผิดพลาดจากสาเหตุใดบ้าง?
          ค่าผิดพลาดมักเกิดจากเส้นเลือดแดงที่แข็งมีแคลเซียมเกาะ ทำให้ค่า Doppler signal สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้ค่า ABI มีค่ามากกว่า 1.3
วิธีแก้ ให้ใช้วัดค่าความดันโลหิตช่วงsystolic ที่นิ้วเท้า แทนข้อเท้า แต่ปัญหาคือ ความดันระหว่างข้อเท้า และนิ้วเท้า ปกติจะแตกต่างกันถึง 20-30 มม.ปรอท และยังไม่สามารถทำได้ในเครื่องวัดABI ที่ใช้ทั่วๆไปซึ่งไม่ได้ออกแบบให้วัดความดันที่นิ้วเท้า(toe pressure)

 ค่า ABI ใช้ทำนายพยากรณ์ของโรคหลอดเลือดแดงอุดตันได้หรือไม่ อย่างไร?
          จากการศึกษาในผู้หญิง เกือบ 1500 ราย พบว่า กลุ่มที่มีค่า ABI น้อยกว่า 0.9 มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3.1
เท่า และความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า ในระยะเวลา 4 ปี
โดยทั่วไปถือว่า การมีหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 4-6 เท่า
          จากการศึกษาใน Framingham ทำในผู้ชาย 251 คน ผู้หญิง 421 คน(อายุเฉลี่ย 80 ปี)พบว่า คนที่มีค่า ABI น้อยกว่า 0.9 มีความเสี่ยงต่อการเกิดสมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว เพิ่มขึ้น 13% และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์เพิ่มขึ้น 5%(adjusted hazard ratio 2.0)

 ความแม่นยำของค่า ABI ในการทำนายการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ เป็นอย่างไร?
          จากการทบทวนข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาทั้งหมด 9 การศึกษา พบว่า การใช้ค่า ABI น้อยกว่า 0.9 บอกว่ามีการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย นำมาใช้ทำนาย
การเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ มีความไว(sensitivity) 16.5% ความจำเพาะ(specificity) 92.7%
การเกิดเส้นเลือดสมองตีบ มีความไว(sensitivity) 16% ความจำเพาะ(specificity) 92.2%
การเสียชีวิตจากโรคหัวใจ มีความไว(sensitivity) 4.1% ความจำเพาะ(specificity) 87.9%
          ดังนั้น จะเห็นว่า ความไวในการใช้ทำนายต่ำ แต่มีความจำเพาะในการใช้ทำนาย ค่อนข้างสูง

 ในรายที่ค่า ABI ปกติ แต่ยังสงสัยว่ามีหลอดเลือดแดงอุดตัน จะมีวิธีตรวจเพิ่มเติม อย่างไร?
            ปกติ การหาค่า ABI จะทำในขณะที่ผู้ถูกตรวจอยู่ในขณะพัก แต่ถ้าผลออกมาปกติ แต่ยังสงสัยว่ามีหลอดเลือดแดงอุดตัน เช่นมีการปวดน่องเป็นตะคริวเวลาเดิน จนต้องหยุดเดิน แพทย์จะตรวจหาค่า ABI หลังการออกกำลังกาย โดยมาตรฐานให้เดินบนสายพานไฟฟ้าที่ความเร็ว 2 ไมล์ต่อชั่วโมง ความชัน 12% เป็นเวลา 5 นาที แล้ววัดค่า ABI ทุก 1 นาทีหลังออกกำลัง เป็นเวลา 5 นาที ถ้าค่า ABI ลดลงมากกว่าหรือเท่ากับ 20% บ่งชี้ว่า มีหลอดเลือดแดงอุดตัน
          นอกจากนี้ยังมีวิธีตรวจหาการอุดตันของหลอดเลือดแดง อีกหลายวิธีได้แก่
- การวัด segmental limb pressure
- segmental volume plethysmography
- duplex Doppler ultrasonography
- magnetic resonance angiography(MRA)
- angiography

เรียบเรียงโดย Doctor Heart
เอกสารอ้างอิง
1. Spittell, JA Jr. Diagnosis and management of occlusive peripheral arterial disease. Curr Probl Cardiol 1990; 15:1.
2. Hirsch, AT, Criqui, MH, Treat-Jacobson, D, et al. Peripheral Arterial Disease Detection, Awareness, and Treatment in Primary Care. JAMA 2001; 286:1317.
3. McDermott, MM, Kerwin, DR, Liu, K, et al. Prevalence and significance of unrecognized lower extremity peripheral arterial disease in general medicine practice*. J Gen Intern Med 2001; 16:384.
4. Criqui, MH, Fronek, A, Klauber, MR, et al. The sensitivity, specificity, and predictive value of traditional clinical evaluation of peripheral arterial disease: results from noninvasive testing in a defined population. Circulation 1985; 71:516.
5. Rofsky, NM, Adelman, MA. MR angiography in the evaluation of atherosclerotic peripheral vascular disease. Radiology 2000; 214:325.
6. Olin, JW, Kaufman, JA, Bluemke, DA, et al. Atherosclerotic vascular disease conference: Writing Group IV: imaging. Circulation 2004; 109:2626.
7. Belch, JJ, Topol, EJ, Agnelli, G, Bertrand, M. Critical issues in peripheral arterial disease detection and management: a call to action. Arch Intern Med 2003; 163:884.
8. Hiatt, WR. Medical treatment of peripheral arterial disease and claudication. N Engl J Med 2001; 344:1608.
9. McPhail, IR, Spittell, PC, Weston, SA, Bailey, KR. Intermittent claudication: an objective office-based assessment. J Am Coll Cardiol 2001; 37:1381.
10. McDermott, MM, Greenland, P, Liu, K, et al. The ankle brachial index is associated with leg function and physical activity: the Walking and Leg Circulation Study. Ann Intern Med 2002; 136:873.
11. Kuller, LH, Shemanski, L, Psaty, BM, et al. Subclinical disease as an independent risk factor for cardiovascular disease. Circulation 1995; 92:720.
12. Vogt, MT, Cauley, JA, Newman, AB, et al. Decreased ankle/arm blood pressure index and mortality in elderly women. JAMA 1993; 270:465.
13. Resnick, HE, Lindsay, RS, McDermott, MM, et al. Relationship of high and low ankle brachial index to all-cause and cardiovascular disease mortality: the Strong Heart Study. Circulation 2004; 109:733.
14. Murabito, JM, Evans, JC, Larson, MG, et al. The ankle-brachial index in the elderly and risk of stroke, coronary disease, and death: the Framingham Study. Arch Intern Med 2003; 163:1939.
15. Hiatt, WR, Hirsch, AT, Regensteiner, JG, Brass, EP. Clinical trials for claudication. Assessment of exercise performance, functional status, and clinical end points. Vascular Clinical Trialists. Circulation 1995; 92:614.
16. Heintz, SE, Bone, GE, Slaymaker, EE, et al. Value of arterial pressure measurements in the proximal and distal part of the thigh in arterial occlusive disease. Surg Gynecol Obstet 1978; 146:337.
17. Darling, RC, Raines, JK, Brener, BJ, Austen, WG. Quantitative segmental pulse volume recorder: a clinical tool. Surgery 1972; 72:873.
18. Kempczinski, RF. Segmental volume plethysmography in the diagnosis of lower extremity arterial occlusive disease. J Cardiovasc Surg 1982; 23:125.
19. Kohler, TR, Nance, DR, Cramer, MM, et al. Duplex scanning for diagnosis of aortoiliac and femoropopliteal disease: A prospective study. Circulation 1987; 76:1074.
20. Zierler, RE. Duplex and color-flow imaging of the lower extremity arterial circulation. Semin Ultrasound CT MR 1990; 11:168.
21. Koelemay, MJ, den Hartog, D, Prins, MH, et al. Diagnosis of arterial disease of the lower extremities with duplex ultrasonography. Br J Surg 1996; 83:404.
22. Doobav AV,Anand SS.Sensitivity and specificity of the ankle-brachial index to predict future cardiovascular outcomes:a systemic review. Arterioscler Thromb Vasc Biol 2005;25(7):1463-9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น